ประวัติความเป็นมาของอินเทอร์เน็ต
ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐
ประเทศรัสเซียส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศได้สำเร็จ
กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาจึงได้รับรู้ว่า เทคโนโลยีชั้นสูงของประเทศยังล้าหลังกว่าของรัสเซีย
ซึ่งส่งผลให้เกิดการตื่นตัว ที่จะพัฒนาเทคโนโลยีชั้นสูง
รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยกระทรวงกลาโหม จึงก่อตั้งหน่วยงานวิจัยชั้นสูงที่ชื่อว่า Advanced
Research Projects Agency หรือที่รู้จักกันในนามของ ARPA
ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ ARPA ได้ให้ทุนแก่มหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา
เพื่อการทำวิจัยในหัวข้อเรื่อง เครือข่ายการทำงานร่วมกันของคอมพิวเตอร์แบบแบ่งเวลา
(Cooperative network of Time-Shared Computers) หลังจากนั้นอีก
๓ ปี กระทรวงกลาโหมก็ได้สนับสนุนโครงการวิจัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ที่ชื่อว่า ARPANET
จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๑๒ โครงการ ARPANET ได้เชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัย
๔ แห่ง เข้าด้วยกัน
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ เครือข่าย ARPANET ขยายใหญ่ขึ้น
และสามารถเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ถึง ๒๓ เครื่อง
จากการศึกษาเรื่องเครือข่ายคอมพิวเตอร์ จนถึงระยะเวลานั้น
ผู้พัฒนาเครือข่ายหลายคน
เริ่มเห็นปัญหาของการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์ที่มีหลากหลายชนิด
และหลากหลายผลิตภัณฑ์ จึงทำให้เกิดปัญหายุ่งยากในการเชื่อมโยง
แนวความคิดที่จะสร้างระบบเปิดจึงเกิดขึ้น กล่าวคือ
กำหนดมาตรฐานกลางที่ผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อสามารถจะเชื่อมโยงเข้าสู่มาตรฐานนี้ได้
แนวคิดในการเชื่อมโยงเครือข่ายเข้าด้วยกัน
และเชื่อมโยงในลักษณะวงกว้าง เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ดังนั้น ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕
ผู้พัฒนาเครือข่ายจึงสร้างโปรโตคอลใหม่ และให้ชื่อว่า TCP/IP (Transmission
Control Protocol / Internet Protocol) และให้ชื่อเครือข่ายที่เชื่อมโยงโดยใช้โปรโตคอลนี้ว่า
อินเทอร์เน็ต หลังจากนั้น โครงการ ARPANET ได้นำโปรโตคอล TCP/IP ไปใช้
การพัฒนาเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้ดำเนินการต่อมา
ถึงแม้ว่าในช่วงหลัง กระทรวงกลาโหมของสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการสนับสนุน
และหันกลับไปทำวิจัย และพัฒนาเอง เครือข่ายนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
และมีการพัฒนามาตรฐานต่างๆ เข้ามาใช้ประกอบร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
จนในที่สุดได้กลายเป็นมาตรฐานการสื่อสารที่ชื่อว่า TCP/IP และใช้ชื่อเครือข่ายว่า
อินเทอร์เน็ต (Internet)
ต่อมาการบริหาร และดำเนินงานเครือข่าย ได้รับการสนับสนุน
จากมูลนิธิการศึกษาวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือที่ใช้ชื่อย่อว่า NSF
(National Science Foundation) มีการตั้งคณะกรรมการเข้ามาบริหารเครือข่ายกลาง
ที่เปิดโอกาสให้ผู้อื่นเข้ามาเชื่อมโยง และได้ดำเนินการ
จนอินเทอร์เน็ตกลายเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ของโลก
สำหรับในประเทศไทย
เริ่มเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ตั้งแต่กลางปี พ.ศ. ๒๕๓๐
โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ทำการเชื่อมโยง
เพื่อส่งอิเล็กทรอนิกส์เมลกับประเทศออสเตรเลีย
ซึ่งทำให้มีระบบอิเล็กทรอนิกส์เมลเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก
ต่อมาในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้เช่าสายวงจรเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตเป็นครั้งแรก ในช่วงระยะเวลาเดียวกันนี้
กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
ก็ได้มีโครงการที่จะเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยขึ้น
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ระหว่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ได้พัฒนาก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ
จนทำให้มีสถาบันออนไลน์กับอินเทอร์เน็ตเป็นกลุ่มแรก ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลับ
มหาวิทยาลับธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ
การพัฒนาเครือข่ายจึงเป็นไปตามกระแส
การเชื่อมโยงเข้าสู่ระบบสากล มาตรฐานการเชื่อมโยงเป็นแบบโพรโทคอล TCP/IP ตามมาตรฐานนี้
มีการกำหนดหมายเลขแอดเดรส ให้แก่เครือข่าย และเครื่องคอมพิวเตอร์
โดยมีการสร้างเป็นลำดับชั้น เพื่อให้การเชื่อมโยงเครือข่ายเป็นระบบ แอดเดรสนี้จึงมีชื่อว่า
ไอพีแอดเดรส (IP address)
ไอพีแอดเดรสทุกตัว จะต้องได้รับการลงทะเบียน
เพื่อจะได้มีหมายเลขไม่ซ้ำกันทั่วโลก การกำหนดแอดเดรสจะเป็นการกำหนดหมายเลข
ให้แก่เครือข่าย
ผู้ใช้เครือข่ายย่อยในเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ต
จะเป็นสมาชิกของอินเทอร์เน็ต โดยปริยาย เพราะเครื่องคอมพิวเตอร์ของตน
สามารถเชื่อมโยงกับเครื่องอื่นๆ ได้ทั่วโลก ผู้ใช้งานอยู่ที่บ้าน
สามารถใช้คอมพิวเตอร์จากบ้าน ต่อผ่านโมเด็ม มาที่เครื่องหลัก หลังจากนั้น
ก็จะเชื่อมโยงเข้าสู่เครือข่ายต่างๆ ได้ นิสิตนักศึกษาซึ่งอยู่ที่บ้าน จะสามารถติดต่อกับอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย
หรือติดต่อกับเพื่อนๆ ได้ ทั้งในมหาวิทยาลัย และต่างมหาวิทยาลัย หรือในต่างประเทศ
อินเทอร์เน็ตจึงเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์
มีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนคาดกันว่า ในอนาคต
เครือข่ายอินเทอร์เน็ตจะเชื่อมโยงคนทั้งโลกเข้าด้วยกัน
เครือข่ายคอมพิวเตอร์ในประเทศไทย
สามารถเชื่อมโยงได้ทุกมหาวิทยาลัย โดยมีการเชื่อมโยงเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
ที่เชื่อมโยงกันในประเทศ ซึ่งจัดการโดยหน่วยบริการอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า ISP
(Internet Service Provider) หน่วยบริการ ISP จะมีสายเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศเข้าสู่อินเทอร์เน็ต
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕
เครือข่ายระหว่างมหาวิทยาลัยได้เชื่อมโยงกัน โดยมีแกนกลางคือ
ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่ง ชาติ และให้ชื่อเครือข่ายนี้ว่า
เครือข่ายไทยสาร (THAISARN - THAI Social / Scientific, Academic and
Research Network) การเชื่อมโยงภายในประเทศ ทำให้ทุกเครือข่ายย่อย
สามารถเชื่อมโยงเป็นอินเทอร์เน็ตสากลได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น